วันศุกร์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2555

แหล่งโบราณคดีบ้านโป่งมะนาว



แหล่งโบราณคดีบ้านโป่งมะนาว เป็นแหล่งโบราณคดีใน ตำบลห้วยขุนราม อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี

ที่ตั้ง

แหล่งโบราณคดีบ้านโป่งมะนาว
ชุมชนดึกดำบรรพ์ คน ๓ พันปี บ้านโป่งมะนาว เป็นแหล่งโบราณคดียุคสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ที่พบโครงกระดูกมนุษย์มากที่สุดในพื้นที่ภาคกลางของประเทศไทย เท่าที่ได้ทำการขุดค้นแล้วในปัจจุบัน เป็นหมู่บ้านขนาดไม่ใหญ่นัก อยู่ในเขตการปกครองของตำบลห้วยขุนราม อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี โดยอยู่ห่างจากตัวอำเภอพัฒนานิคมไปทางทิศตะวันออกประมาณ ๔๕ กิโลเมตรและอยู่ห่างจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์เพียง 23 กิโลเมตร จากการศึกษาโดย รศ.สุรพล นาถะพินธุ จากภาควิชาโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่ผ่านมาพบว่า แหล่งโบราณคดีบ้านโป่งมะนาว ในยุคสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย โดยเฉพาะในช่วง 2,500 - 1,500 ปีมาแล้วเป็นชุมชนขนาดใหญ่มาก ปรากฏร่องรอยกิจกรรมของมนุษย์ ทั้งกิจกรรมเกี่ยวกับความเชื่อ การอยู่อาศัย และการผลิต ได้พัฒนาขึ้นเป็นศูนย์กลางประชากร ศูนย์กลางเศรษฐกิจ และศูนย์กลางทางวัฒนธรรมที่สำคัญยิ่งแห่งหนึ่งในประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่รอยต่อระหว่างที่ราบภาคกลางกับที่ราบสูงภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย

ประวัติการขุดค้น

นับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๔๓ เป็นต้นมา ราษฎรในหมู่บ้านโป่งมะนาวและหมู่บ้านข้างเคียงในตำบลห้วยขุนราม อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี ก็ได้ทราบกันอย่างดีว่าที่บริเวณวัดโป่งมะนาวเป็นแหล่งโบราณคดีที่สำคัญมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย ทั้งนี้เพราะในช่วงเวลาดังกล่าวพื้นที่บริเวณนี้ถูกขุดหาโบราณวัตถุอย่างผิดกฎหมาย และได้พบโบราณวัตถุมากมายหลายประเภท โดยล้วนพบฝังอยู่ร่วมกับโครงกระดูกมนุษย์สมัยโบราณ แต่การลักลอบขุดค้นที่แหล่งโบราณคดีบ้านซึ่งอยู่ในบริเวณวัดบ้านโป่งมะนาวได้มีการลักลอบขุดค้นได้เพียง 2 วันก็ยุติลงเพราะว่านายสมส่วน บูรณพงษ์ ตำแหน่งหัวหน้าสถานีอนามัยตำบลห้วยขุนราม อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี ร่วมกับอาจารย์ภูธร ภูมะธน จากชมรมรักษ์โบราณสถานและสิ่งแวดล้อมจังหวัดลพบุรี ดำเนินการแจ้งความให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจากสถานีตำรวจภูธรตำบลมะนาวหวาน อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี ได้เข้าดำเนินการจับกุมคนร้ายได้ทั้งหมด 64 ราย พร้อมของกลางโบราณวัตถุจำนวนมาก ต่อมานายสมส่วน บูรณพงษ์ ได้เป็นผู้ริเริ่มและพัฒนาให้เป็น "แหล่งโบราณคดีบ้านโป่งมะนาว" โดยดำเนินการพัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้ตามอัธยาศัยและการเรียนรู้ตลอดชีวิต และมีการวิจัยและพัฒนา(R&D)การนำชมโดย "ยุวมัคคุเทศก์ประจำแหล่งโบราณคดีบ้านโป่งมะนาว" โดยมีการพัฒนาให้เป็นแหล่งโบราณคดีที่ดำเนินการโดยชุมชนเองโดยมีองค์การภาครัฐให้การสนับสนุนอย่างยั่งยืนตลอดมา ต่อมาสมเด็จพระเทพพระรัตนราชสุดาสยามราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดพิพิธภัณฑสถานชุมชุนอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2547

อ้างอิง : http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%81%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B9%82%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%93%E0%B8%84%E0%B8%94%E0%B8%B5%E0%B8%9A%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B9%82%E0%B8%9B%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%A1%E0%B8%B0%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%A7

1 ความคิดเห็น: